หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวนศาสตร์เขตร้อน (หลักสูตรนานาชาติ)
Master of Science Program in Tropical Forestry (International Program)
รหัสหลักสูตร 25440021100607
เล่มหลักสูตร มคอ. 2
ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ด้วยตำแหน่งของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน มีพื้นที่ประกอบด้วยส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีป (continental) และคาบสมุทร (peninsular) ทำให้พื้นที่ป่าไม้ประกอบไปด้วยป่าหลากชนิด ทั้งประเภทผลัดใบและไม่ผลัดใบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความสำคัญต่อการศึกษา ค้นคว้าวิจัยเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในเขตร้อนถูกบุกรุกทำลายในรูปแบบต่างๆ อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อโลกหลายด้าน เพื่อแสวงหาหนทางที่จะดำรงไว้ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ในเขตร้อน จึงควรได้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับป่าไม้เขตร้อนที่ควรเผยแพร่ ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ ดังนั้นคณะวนศาสตร์ซึ่งได้เปิดสอนทางด้านป่าไม้มาแล้วกว่า 80 ปี สามารถผลิตบุคลากรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ออกไปรับใช้ประเทศอย่างกว้างขวางทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้คณะวนศาสตร์ยังได้ให้บริการวิชาการแก่สังคมในทุกระดับ รวมถึงมีโครงการวิจัยและพัฒนาในระดับนานาชาติ ตลอดจนมีชาวต่างประเทศได้แสดงความจำนงที่จะมาศึกษาต่อที่คณะวนศาสตร์เสมอมา จึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ สาขาวนศาสตร์เขตร้อน ขึ้น
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ตามนโยบายการป่าไม้ของชาติได้ตั้งเป้าหมายไว้ให้มีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพของป่าไม้ในการอำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติในภาพรวมให้สูงขึ้น แต่สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศกลับลดลงทุกขณะ การที่จะสามารถฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้กลับคืนสู่สภาพที่อุดมสมบูรณ์ และมีพื้นที่ครบตามเป้าหมาย จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการขั้นสูงในสาขาต่างๆ ด้านวนศาสตร์ เช่น นิเวศวิทยาป่าไม้ การจัดการทรัพยากรป่าไม้ วนวัฒนวิทยา การจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อม การจัดการสัตว์ป่า การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมป่าไม้ และวนศาสตร์ชุมชน เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาการป่าไม้ให้รุดหน้าต่อไป ปัจจุบันจำนวนผู้มีคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ด้านวนศาสตร์ยังมีอยู่อย่างจำกัด คณะวนศาสตร์ได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องผลิตผู้ที่มีความรู้และคุณวุฒิชั้นสูงในสาขาวิชาวนศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1) เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ระดับสูงในสาขาวิชาวนศาสตร์เขตร้อน และมีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้กับงานพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพโดยสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และภูมิภาคในเขตร้อนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน
2) เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าและวิจัย และพัฒนาวิชาการด้านวนศาสตร์เขตร้อนสมัยใหม่ โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงที่ทันสมัย
3) เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนที่ต้องการบุคลากรที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านการป่าไม้เขตร้อนในระดับสูง
4) เพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวนศาสตร์เขตร้อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรในความเป็นมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับนานาชาติ
หลักสูตร แผน ก แบบ ก 2
จำนวนหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต
โครงสร้างหลักสูตร
ก. วิชาเอก ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต
– สัมมนา 2 หน่วยกิต
– วิชาเอกบังคับ 9 หน่วยกิต
– วิชาเอกเลือก ไม่น้อยกว่า 13 หน่วยกิต
ข. วิทยานิพนธ์ ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต
รายวิชา
ก. วิชาเอก ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต
สัมมนา 2 หน่วยกิต
01309597 สัมมนา (Seminar) 1,1
– วิชาเอกบังคับ 9 หน่วยกิต
01309511 การป่าไม้เขตร้อน (Tropical Forestry) 3(3-0-6)
01309591 เทคนิคการวิจัยทางวนศาสตร์เขตร้อน (Research Techniques in Tropical Forestry) 3(3-0-6)
01309592 สถิติเพื่อการวิจัยวนศาสตร์เขตร้อน (Statistics for Tropical Forestry Research) 3(3-0-6)
– วิชาเอกเลือก ไม่น้อยกว่า 13 หน่วยกิต
ให้เลือกเรียนรายวิชาจากรายวิชาได้ทั้งในสาขาวิชาวนศาสตร์เขตร้อน และ/หรือรายวิชานอกสาขาวิชารหัส 500 ที่เปิดสอนโดยคณะวนศาสตร์ โดยรายวิชาในสาขาวิชาวนศาสตร์เขตร้อน มีดังนี้
01309512 การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้เขตร้อน (Utilization of Tropical Forest Resources) 3(3-0-6)
01309513 การจัดการทรัพยากรป่าไม้เขตร้อน (Tropical Forest Resources Management) 3(3-0-6)
01309521 หลักการใช้ที่ดินในป่าเขตร้อน (Principle of Land Use in Tropical Forest) 3(3-0-6)
01309561 วนวัฒนวิทยาป่าเขตร้อน (Tropical Silviculture) 3(3-0-6)
01309596 เรื่องเฉพาะทางวนศาสตร์เขตร้อน (Selectd Topic in Tropical Forestry) 3(3-0-6)
01309598 ปัญหาพิเศษ (Special Problems) 1-3
ข. วิทยานิพนธ์ ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต
01309599 วิทยานิพนธ์ (Thesis) 1-12